• hrscsale@gmail.com
  • 02- 915-8587 ต่อ 601
  • 2019-09-19
  • ฝ่ายฝึกอบรมHRSC

1.มีความรู้ความสามารถในงานที่ทำ

แน่นอนว่าวัตถุประสงค์แรกของการรับสมัครงานก็คือต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานนั้นได้จริง ฝ่าย HR สามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้จากประวัติการศึกษาและประวัติการทำงานที่ผ่านมา รวมถึงการสัมภาษณ์ที่เจาะลึกลงรายละเอียดการทำงานนั้นๆ หรือแม้กระทั่งการสอบถามไปยังบริษัทเก่าของผู้สมัคร การเลือกผู้ที่ทำงานเป็น พร้อมเริ่มงานได้เลย นอกจากจะไม่ต้องเสียเวลามากในการสอนงานแล้ว ฝ่าย HR ยังสามารถช่วยหาหลักสูตรในการเสริมทักษะเพื่อพัฒนาศักยะภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลให้กับบริษัทได้ดีขึ้นอีกด้วย

2.มันใจในตัวเอง แต่ไม่หลงตัวเอง

คนที่มั่นใจในตัวเองมักจะเป็นคนที่มีความเด็ดขาดในการทำงาน ตัดสินใจไว ทำงานได้ประสิทธิภาพ แต่ความมั่นใจในตัวเองบางทีก็เป็นเหมือนเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างความมี “อีโก้ (Ego)” ได้เหมือนกัน สิ่งที่ฝ่าย HR จะเช็คผู้สมัครงานได้เบื้องต้นก็คือลักษณะของการคุยโว โอ้อวด หลงตัวเอง และมักโทษโน่นโทษนี่เสมอ หรือไม่ยอมรับคำติ ไม่ฟังความคิดเห็นจากผู้อื่น ใช้ความคิดเห็นตัวเองเป็นใหญ่จนเกินพอดี และตัวเองมักถูกเสมอ บ่อยครั้งที่พูดอวดตนว่าสามารถทำได้ แต่พอเอาเข้าจริงก็ไม่ยอมทำ หรือทำไม่เป็นดั่งที่อ้างไว้ สิ่งเหล่านี้ฝ่าย HR อาจจะต้องละเอียดรอบคอบในการมองคนให้เป็น สัมภาษณ์อย่างเข้าใจ ประเมินผลให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด

ปรับอีโก้ให้เป็นเรื่องดี
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า อีโก้ (Ego) นั้นไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป การรู้จักควบคุมอีโก้ให้เหมาะสมหรือใช้อีโก้ให้เกิดประโยชน์ได้ถือเป็นเรื่องดีทีเดียว หากฝ่ายบุคคลสามารถจับวางไปอยู่ในตำแหน่งงานที่ถูกที่ถูกทาง แนะนำการบริหารอีโก้ให้ถูกต้องได้ อาจเกิดประโยชน์กับบริษัท เพราะบางกรณีการมีอีโก้ที่เหมาะสมอาจสร้างความน่าเชื่อถือได้ดีกว่าคนที่นอบน้อมถ่อมตนเสียด้วยซ้ำ หรือบางทีคนมีอีโก้อาจกล้าแสดงความคิดเห็นมากกว่าคนที่ประณีประนอม ทำให้บริษัทสามารถรู้ปัญหาที่แท้จริงของงานได้เช่นกัน

3.มีทักษะในการวางแผน มีไหวพริบในการแก้ปัญหา

คำถามที่ฝ่าย HR จะสัมภาษณ์ผู้สมัครอยู่เสมอก็คือทักษะในการแก้ปัญหาตลอดจนการเผชิญกับความกดดันต่างๆ ซึ่งในโลกการทำงานจริงนั้นสิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติ การได้พนักงานที่สามารถวางแผนการทำงานได้ดีนั้นย่อมทำให้งานมีประสิทธิผลมากขึ้น และอาจเกิดปัญหาน้อยลงได้ โดยส่วนใหญ่ผู้ที่มีการวางแผนการทำงานที่ดีมักจะมีทักษะตลอดจนไหวพริบในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ดีตามไปด้วย สิ่งที่ฝ่าย HR สามารถเช็คได้เบื้องต้นก็อาจจะมาจากคำถามยอดฮิตอย่างวิธีจัดการปัญหาและการทำงานภายใต้ความกดดัน หรืออาจจะลองสมมติสถานการณ์ขึ้นเพื่อทดสอบวิธีคิดไปจนถึงวิธีแก้ปัญหาของผู้สมัครก็ได้เช่นกัน

4.กระตือรือร้น ขยันขันแข็ง รับผิดชอบ

คุณลักษณะที่ดีทั้งสามอย่างนี้มักจะมาพร้อมกัน และเป็นคุณสมบัติที่ดีสำหรับพนักงานในทุกบริษัท หากฝ่าย HR สามารถรู้ได้ว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติดังกล่าวก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ควรจะรับบุคคลนั้นเข้าทำงาน ความกระตือรือร้นนั้นอาจดูได้จากบุคลิกไปจนถึงการพูดจาในขณะสัมภาษณ์งาน ไปจนถึงความสนใจในข้อมูลต่างๆ ที่จะนำมาตอบ หรือการตอบสนองการสนทนาที่ช่วยให้การพูดคุยราบรื่นและไม่น่าเบื่อ สร้างเรื่องน่าสนใจได้เสมอ สิ่งดีๆ

หลายอย่างที่เกิดขึ้นนั้นส่วนหนึ่งมาจากความขยัน หากขี้เกียจแล้วไม่ว่าจะมีแนวความคิดดีขนาดไหนสิ่งดีๆ เหล่านั้นก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เหมือนกัน และคงไม่มีบริษัทไหนอยากจะรับพนักงานที่ขี้เกียจเข้าไปทำงานด้วย ส่วนสิ่งสำคัญที่สุดก็คือความรับผิดชอบ หากพนักงานมีความรับผิดชอบแล้วงานก็จะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ยามเกิดปัญหาก็ไม่ทิ้งปัญหา ลงมือแก้ไขให้สำเร็จ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท

5.ยอมรับความผิดพลาดได้ พร้อมแก้ไขข้อบกพร่อง

สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง ไม่เคยมีใครที่ไม่เคยทำผิดพลาดมาก่อน แต่ผู้ที่รู้จักยอมรับความผิดพลาดของตัวเองได้ พร้อมลุกขึ้นมาแก้ไขข้อบกพร่อง แล้วพร้อมจะเดินต่อ ทำให้ดีขึ้นกว่าเก่า เป็นคนที่น่าปรบมือให้ที่สุด หากบริษัทได้พนักงานที่มีคุณสมบัติแบบนี้เข้ามาทำงานย่อมทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง แต่หากตรงกันข้าม คนที่มักไม่ยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง มักจะโทษคนอื่น สร้างความแตกแยก หรือแม้กระทั่งปกปิดข้อบกพร่อง สิ่งเหล่านี้ทำให้บริษัทล่มได้เช่นกัน

คำถามหนึ่งที่เรามักพบบ่อยๆ ในการสัมภาษณ์งานก็คือความล้มเหลวของคุณคืออะไร และรับมือกับมันอย่างไร อย่างนั้นสิ่งนี้ก็สามารถสะท้อนทัศนคติเรื่องนี้ในเบื้องต้นได้เป็นอย่างดี หรือการตรวจสอบข้อมูลไปยังบริษัทเก่าที่ผู้สมัครเคยทำงาน ก็อาจรู้ได้ว่าผู้สมัครคนนั้นมีคุณสมบัติในข้อนี้ดีแค่ไหนได้เช่นกัน

6.ควบคุมอารมณ์ได้ ให้เกียรติคนอื่น

การรู้จักให้เกียรติซึ่งกันและกันในการทำงาน บางทีอาจช่วยลดปัญหาภายในองค์กรได้ และทำให้คนทำงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น คนที่ให้เกียรติคนอื่นเป็นมักเป็นคนที่ควบคุมอารมณ์ได้ดี ในทางตรงกันข้ามผู้ที่ไม่รู้จักให้เกียรติคนอื่นมักจะเริ่มเป็นผู้ระบายอารมณ์ใส่คนอื่นก่อน แล้วก็เกิดการถกเถียงที่ไม่ได้ประโยชน์ เกิดปัญหาภายในองค์กรขึ้นได้ เพราะธรรมชาติของมนุษย์ย่อมไม่มีใครชอบการปะทะอารมณ์ใส่กันอยู่แล้ว

ฝ่าย HR อาจจะสังเกตเรื่องนี้ให้ดีจากการสัมภาษณ์งาน อาจลองเตรียมสถานการณ์หรือคำถามที่มีแนวโน้มก่อให้เกิดความไม่พอใจได้ แล้วสังเกตพฤติกรรมที่เกิดขึ้น แต่ควรอยู่บนพื้นฐานที่ฝ่าย HR ต้องไม่สร้างสถานการณ์จนเกินพอดี หรือก้าวก่ายผู้สมัครจนไม่เหมาะสม การแสดงอารมณ์ในบางครั้งอาจสังเกตได้ง่ายจากลักษณะการตอบคำถามแนวแสดงความคิดเห็น เช็คปฎิกิริยาเหล่านี้เบื้องต้นได้จากวิธีการให้เหตุผลของคำตอบที่เห็นต่างกัน

เช็คอารมณ์จากการปล่อยให้รอ
วิธีการทดสอบหนึ่งที่ฝ่าย HR มักใช้ในการทดสอบผู้สมัครงานในเรื่องความอดทนและการแสดงอารมณ์ก็คือการปล่อยให้ผู้สมัครนั่งรอการสัมภาษณ์ เพื่อที่ฝ่าย HR จะคอยสังเกตการณ์พฤติกรรมที่เกิดขึ้น จะว่าไปแล้ววิธีการนี้ในบางมุมมองก็ไม่เหมาะสมนัก หากบรรทัดฐานของคนนั้นต่างกัน ผู้สมัครบางคนอาจจะเป็นคนตรงต่อเวลา เวลาเป็นสิ่งมีค่า การปล่อยให้คนคนนั้นรอโดยไร้จุดมุ่งหมายและไร้เหตุผลนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และมีแนวโน้มที่ผู้สมัครจะแสดงความไม่พอใจออกมาได้สูง หากฝ่าย HR ใช้จุดนี้ประเมินเรื่องอารมณ์ อาจไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมเท่าไรนัก แต่ถึงอย่างไรก็ดี ก็ยังมี HR อีกจำนวนมาก ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องตรงเวลา

ยกเว้นก็แต่ว่ามีการแจ้งล่วงหน้าก่อนมาสัมภาษณ์ว่าต้องใช้เวลานานเท่าไร ฝ่าย HR มาพบผู้สมัครตรงตามเวลานัดหมายแล้วจึงให้นั่งรอ หรือแจ้งว่าจะมีการสัมภาษณ์เกิดขึ้นเวลาไหนให้รอสักครู่ ก็จะดีกว่า

อย่างไรก็ตาม การตรงต่อเวลาเป็นสิ่งสำคัญในทุกเรื่อง แม้แต่การทำงาน ฉะนั้นฝ่าย HR ก็ควรจะแสดงความตรงต่อเวลากับผู้สมัครงานทุกคนด้วย หากบริษัทไม่ตรงต่อเวลากับผู้สมัครก่อน ก็โทษผู้สมัครไม่ได้ที่เขาอาจจะไม่ให้ค่ากับบริษัท และตัดสินใจไม่ร่วมงานเพราะรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่สำคัญนี้

7.ไม่เห็นแก่ตัว ชอบช่วยเหลือผู้อื่น

ไม่มีใครชอบทำงานกับคนที่เห็นแก่ตัว ไม่ชอบช่วยเหลือคนอื่น โดยเฉพาะบริษัทที่ระบบการทำงานแบบทีมเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งหนึ่งที่ฝ่าย HR จะสังเกตได้เบื้องต้นนั้นก็คือการร่วมกิจกรรมอื่นๆ นอกเหนืองานของตัวเองตั้งแต่การทำกิจกรรมสมัยเรียนไปจนถึงการทำงานปัจจุบัน สำหรับบริษัทที่มีการสัมภาษณ์ระบบกลุ่ม (Group Interview) หรือมีการสัมภาษณ์ในรูปแบบทำกิจกรรมกลุ่ม (Workshop Interview) จุดนี้ HR อาจสังเกตเห็นเรื่องการมีส่วนร่วมและช่วยเหลือผู้อื่นได้ดีกว่า ประเมินผลในเรื่องนี้จากสถานการณ์จริงได้เช่นกัน

อีกเรื่องที่สามารถใช้ทดสอบในเรื่องความเห็นแก่ตัวได้ก็คือการเจรจาเรื่องเงินเดือน ผลประโยชน์ ตลอดจนสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของตำแหน่งงานนั้นๆ คนเห็นแก่ตัวมักจะเอาประโยชน์ของตนเป็นหลัก และไม่ยอมเสียประโยชน์ใดๆ ที่ไม่คุ้มค่า คนกลุ่มนี้อาจมีการเจรจาเรียกร้องผลประโยชน์ให้ได้มากที่สุด โดยอาจเปรียบเทียบกับบริษัทอื่น หรือต่อรองผลประโยชน์จนเกินพอดี ยื้อการเจรจาแบบไม่สมเหตุสมผล แต่กรณีนี้ฝ่าย HR อาจต้องประเมินให้ดี มองให้เป็น ว่านี่คือความเห็นแก่ตัวหรือการรักษาผลประโยชน์ของผู้สมัครที่เป็นสิทธิที่เหมาะสม

8.จริงใจ ไม่โกหก

ข้อนี้อาจสำคัญที่สุดสำหรับการคัดเลือกพนักงาน การเป็นคนจริงใจ ไม่พูดโกหก เป็นคุณสมบัติที่ดีไม่ว่าจะทำงานบริษัทไหนหรือตำแหน่งใดก็ตาม ถึงแม้ว่าหลังจากดูประวัติตลอดจนสัมภาษณ์ผู้สมัครงานเรียบร้อยแล้ว คุณสมบัติครบถ้วนดีเยี่ยมทุกประการ แต่หากทุกเรื่องเป็นเรื่องที่เขาโกหกขึ้นมา ทุกอย่างก็เป็นอันจบ

คนที่เริ่มต้นด้วยความโกหก มักต่อยอดความโกหกในการทำงานด้วย หรือปกปิดข้อมูลบางอย่างที่อาจทำให้บริษัทได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เกิดความเสียหายได้ในที่สุด การโกหกนั้นไม่ได้อยู่แค่เรื่องของคำพูด แต่การกระทำที่ปกปิดความจริง หรือแสดงผลไม่ตรงกับความเป็นจริง ก็เป็นการโกหกทางข้อมูลที่ร้ายแรงเช่นกัน

เรื่องสำคัญที่สุดนี้อาจเป็นสิ่งที่ฝ่าย HR เช็คได้ยากที่สุด แต่ก็ควรเป็นสิ่งที่ฝ่าย HR ควรใส่ใจที่สุด ละเอียดรอบคอบ ตั้งแต่การตรวจเอกสาร, การสังเกตพฤติกรรมการพูด, การตั้งคำถามเพื่อเช็คข้อมูล, หรือแม้แต่การเช็คข้อมูลในอดีตจากบริษัทก่อนๆ ล้วนแล้วแต่ช่วยเหลือในเบื้องต้นได้ทั้งสิ้น

แชร์